วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555


สื่อประเภทกิจกรรม
สื่อประเภทกิจกรรมนับเป็นสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นอย่างยิ่งเพราะมีศักยภาพสูงในการถ่ายทอดเนื้อหาบทเรียน  ทำให้กระบวนการเรียนการสอนดำเนินไปอย่างสนุกสนาน น่าสนใจ ผู้เรียนทุกคนมีโอกาสร่วมในกิจกรรม
ความหมายของสื่อกิจกรรม
         สื่อ หมายถึง สิ่งต่างๆที่เป็นตัวกลางที่จะนำมาใช้การถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ทัศนคติ ค่านิยม หรือทักษะที่มีไปสู่เด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเด็กเกิดการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายได้ดีที่สุด
        กิจกรรม หมายถึง การที่ผู้เรียนปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อการเรียนรู้
        สื่อกิจกรรม หมายถึง กระบวนการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนได้ประสบการณ์หรือเรียนรู้เนื้อหาบทเรียนด้วย การดู การฟัง การสังเกต การทดลอง การสัมผัส จับต้องด้วยตนเอง รวมถึงการร่วมแสดงความคิดเห็น  การแสดงบทบาทในละคร  การละเล่น  เกม  กีฬา  การแข่งขันต่างๆตลอดจนการทำงานร่วมกับบุคคลอื่น  ทำให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์แปลกใหม่ด้วยความเพลิดเพลิน  บางกิจกรรมอาจใช้สื่อวัสดุหรืออุปกรณ์เข้ามาช่วยในการถ่ายทอดความรู้เพื่อให้ผู้เรียนรับรู้และเรียนรู้เนื้อหาสาระในกิจกรรมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ความสำคัญของสื่อ
1.เป็นเครื่องมือส่งเสริมเด็กให้กล้าแสดงออกและเกิดการเรียนรู้ อย่างมีประสิทธิภาพ
2. เป็นตัวกลางในการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ทัศนคติ  ค่านิยม หรือทักษะของผู้สอนไปสู่ผู้เรียน
3. เป็นเครื่องมือเร้าความสนใจของเด็ก ให้ติดตามเรื่องราวด้วย ความสนใจและไม่เกิดความรู้สึกว่าเป็นการ  เรียน
4. เป็นเครื่องมือทำสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมและผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรงทำให้จำได้นาน             
คุณค่าของสื่อประเภทกิจกรรม
สื่อประเภทกิจกรรมมีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนหลายประการดังนี้
1. ช่วยรวมวัสดุอุปกรณ์หรือประสบการณ์ที่กระจัดกระจายไว้ในที่แห่งเดียวกัน
2. ส่งเสริมให้ผู้เรียนกล้าแสดงออกและสามารถทำงานกับบุคคลอื่นได้
3. ช่วยให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้ร่วมกิจกรรมอื่นๆ
4. ช่วยถ่ายทอดเนื้อหาเป็นรูปธรรมได้ชัดเจนจากการได้สัมผัสด้วยตัวเอง
5. เป็นนวัฒกรรมการเรียนการสอนที่ทำให้ผู้เรียน เรียนรู้ได้อย่างเพลิดเพลิน
ลักษณะสื่อกิจกรรมที่ดี
 1. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดวัตถุประสงค์ การทำกิจกรรมและประเมินผลกิจกรรม
2. ผู้เรียนได้ฝึกฝนพฤติกรรมการเรียนทั้งทางด้านความรู้ เจตคติและทักษะผสมผสานกันเป็นบูรณาการอย่างเป็นระบบ
3. มีลักษณะของการกระทำเด่นชัดด้วยการกำหนดคำที่แสดงถึงการกระทำไว้ด้วยทุกครั้ง
4. กำหนดเงื่อนไขสำหรับประกอบกิจกรรมไว้ชัดเจน สามารถวัดผล และสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนได้
5. มีเกณฑ์หรือมาตรฐานในการดำเนินกิจกรรม กำหนดพฤติกรรมที่ถือเป็นระดับต่ำสุดที่พึงพอใจ
6. ใช้เวลาพอเหมาะที่ผู้เรียนจะสามารถดำเนินกิจกรรมให้ประสบผลสำเร็จ และก่อให้เกิดความภาคภูมิใจได้
7. มีการชี้แนวทางหรือนำทางในการดำเนินกิจกรรมได้เด่นชัด
8. กิจกรรมต้องตรงกับเนื้อหาและจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้
9. กิจกรรมไม่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อน มีความยากง่ายเหมาะสมกับวัยของผู้เรียน
10. เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
ประเภทของสื่อกิจกรรม
สื่อกิจกรรมที่นำมาใช้กับการเรียนการสอนมีหลายประเภท ดังนี้
1.การสาธิต (Demonstration)
2.การจัดนิทรรศการ (Exhibition)
3.นาฏการ (Dramatization)
4. การใช้ชุมชนเพื่อการศึกษา (Community Study)
5. สถานการณ์จำลอง (Simulation)
6. การศึกษานอกสถานที่ (Field Trip)

การสาธิต (Demonstration)
           การสาธิต หมายถึง การสอนโดยวิธีอธิบายข้อเท็จจริง ความคิด และขบวนการต่าง ๆ พร้อมกับการใช้วัสดุหรือเครื่องมือแสดงให้ผู้เรียนได้สังเกตไปด้วย การสาธิตใช้ได้ดีกับเนื้อหาวิชาที่มีลักษณะเป็นลำดับขั้นตอนและกระบวนการ
    ลักษณะสำคัญ
       วิธีสอนแบบสาธิตเป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนรู้ประสบการณ์ แนวทาง เช่น การฟัง การดู การสัมผัสแตะต้อง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ให้การเรียนรู้ค่อนข้างสมบูรณ์
1.คุณค่าของการสาธิต
1.1 เป็นจุดรวมความสนใจของนักเรียน
1.2 แสดงขั้นตอนหรือเรื่องราวที่เป็นขบวนการได้ดี โดยเฉพาะในการสอนวิชาทักษะ เช่น ดนตรี การใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ฯลฯ
1.3 เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง เช่น การสังเกต วิจารณ์และปฏิบัติด้วยตนเอง
1.4 ช่วยให้ผู้เรียน เรียนด้วยความสนุกสนานและเข้าใจเนื้อหาที่เรียนดีขึ้น
1.5 ฝึกให้ผู้เรียนมีวิจารณญาณและเสริมสร้างทัศนคติที่ถูกต้องให้กับผู้เรียน
1.6 ลดเวลาในการลองผิดลองถูกของผู้เรียนให้น้อยลง
1.7 สามารถใช้สอนได้ทั้งวิชาที่ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ประกอบและวิชาที่มีลักษณะเป็นนามธรรม
1.8 ประหยัดค่าใช้จ่ายทุ่นเวลาและป้องกันอันตราที่เกิดขึ้นกับนักเรียนได้ดี

2. วัตถุประสงค์ในการสาธิต
2.1 ให้ผู้เรียนได้รับรู้หลาย ๆ ด้าน เช่น ทางตา หู จมูก ลิ้น และการสัมผัส
2.2 มุ่งให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์กว้างขึ้น
2.3 ให้ผู้เรียนได้เข้าใจลำดับขั้นต่าง ๆ และสามารถสรุปผลได้
2.4 เป็นกิจกรรมที่สามารถปฏิบัติไปพร้อมกับวิธีการสอนวิธีอื่น ๆ ด้วยได้
 3.โอกาสในการสาธิต
 การใช้วิธีการสาธิต เพื่อการเรียนการสอนอาจทำได้หลายโอกาส คือ
1. ใช้วิธีสาธิตเพื่อนำเข้าสู่บทเรียนเรื่องใหม่ เพื่อเป็นการเร้าความสนใจให้กับผู้เรียน
2. ใช้เพื่อสร้างปัญหาให้ผู้เรียนคิดและหาทางแก้ไขปัญหา
3. เพื่อการสร้างความเข้าใจในเนื้อหา หลักการ และความคิดรวบยอดของบทเรียน
4. ช่วยแก้ปัญหาการสอนในกรณีที่มีเครื่องมือจำกัด ราคาแพง และอาจเป็นอันตรายต่อผู้เรียน
4.ขั้นตอนในการสาธิต
การปรับใช้การสอนสาธิตโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
4.1 ขั้นเตรียมการสาธิต
        ผู้สอนต้องเตรียมการให้ดี ไม่ว่าการเตรียมเนื้อหา บทบาทการสาธิตส่วนใหญ่จะเป็นของผู้สอนแต่เนื้อหาหรือจุดมุ่งหมายในส่วนใดที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดทักษะ ทัศนคติ บทบาทในส่วนนั้นจะเน้นที่ผู้เรียนมากกว่าผู้สอน การเตรียมกระบวนการ เตรียมสื่อที่จะสาธิต และเตรียมกิจกรรมที่จะสาธิตต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ เมื่อสาธิตจบแล้วควรมีการวางแผนว่าจะทำกิจกรรมอะไรต่อไปโดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมมากที่สุด
 4.2  ขั้นการสาธิต
           ผู้สอนควรใช้วิธีการสื่อสารสองทาง คือ มีทั้งผู้สาธิตเป็นคนทำ แต่ในบางครั้งก็ให้ผู้เรียนมีส่วนช่วยสาธิต อธิบายหรือตอบคำถาม ผู้สาธิตควรใช้สื่ออื่น ๆ ที่เร้าความสนใจได้มากกว่าคำพูดประกอบ เช่น ของจริง ของตัวอย่าง แผ่นโปร่งใส สไลด์ หรือภาพฉาย ภาพนิ่ง หรือภาพเคลื่อนไหวบนจอ ในขณะสาธิตจะต้องเน้น ต้องย้ำ การที่ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสตอบสนอง (Feedback) ตลอดเวลา เช่น การซักถาม การอธิบายเสริม การได้มีกิจกรรมเสริมอื่น ๆ เช่น การแสดงบทบาทสมมุติ สถานการณ์จำลอง การเล่นเกม ผู้สาธิตพยายามให้ผู้ดูมีส่วนร่วมมากที่สุด ที่สำคัญผู้สาธิตต้องมีความสามารถที่จะต้องจูงใจให้ผู้เรียนติดตามตลอดเวลา การจูงใจทำได้หลายวิธี เช่น การถามตอบ การให้เพื่อนช่วยเพื่อน ช่วยเสริมซึ่งกันและกัน เป็นต้น
- จำนวนผู้เรียน
          การสาธิตเป็นการแสดงให้ดูการลองทำหรือผู้เรียนได้มีโอกาสปฏิบัติดังนั้นการจัดกลุ่มผู้เรียนต้องไม่มากเกินไป เช่น 5-7 คน หรือน้อยกว่าอย่างไรก็ตามการจัดกลุ่มผู้เรียนจำนวนเท่าใดขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายวิธีการสาธิตสถานที่หรืออุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการสาธิต
- ระยะเวลา
           ระยะเวลาของการสาธิตขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการจัดเนื้อหาเรื่องราวที่จะสาธิตเป็นสำคัญหากมีขั้นตอนและเนื้อหามากการสาธิตก็ต้องใช้เวลานานหรืออยู่ที่วิธีการสาธิตบางอย่างผลของการสาธิตต้องอาศัยเวลานานจึงจะเห็นผลที่เกิดขึ้น แต่กิจกรรมสาธิตบางเรื่องสามารถเน้นผลได้ในทันที
      - ลักษณะห้องเรียน
 การสอนแบบสาธิต อาจจะแบ่งลักษณะของห้องเรียนหรือสถานที่ได้ 3 รูปแบบ คือ
        1. การสาธิตในห้องทดลอง กระบวนการสาธิตในลักษณะนี้จะต้องอาศัยอุปกรณ์ต่างๆในห้องทดลอง เช่น การสาธิตเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ การผสมสารเคมี ซึ่งต้องใช้ความละเอียดอ่อนและขั้นตอนผู้สาธิตต้องรู้และเข้าใจกระบวนการสาธิตเป็นอย่างดี เพราะรูปแบบการสาธิตวิธีนี้บางครั้งหากทำผิดพลาดอาจจะเกิดเรื่องเสียหายได้
      2. การสาธิตในห้องเรียน รูปแบบการสาธิตวิธีนี้อาจจะเป็นการสาธิตเรื่องราวต่าง ๆ ของบทเรียนที่มี ไม่จำเป็นต้องทำในห้องทดลอง และบางครั้งก็ไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากมาย เช่น การสาธิต วิธีการ การสาธิตท่ายืน เดิน นั่ง การสาธิตท่ากราบไหว้ที่ถูกต้อง เป็นต้น
      3. การสาธิตนอกห้องเรียน การสาธิตรูปแบบนี้อาจจะต้องใช้สถานที่นอกห้องเรียน เช่น สนามกีฬา หรือในแปลงสาธิตทางการเกษตร เป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยสถานที่ หรือบริเวณกว้างขวางกว่าห้องเรียน
-ลักษณะเนื้อหา                                                                                                                                       
           รูปแบบการสอนแบบสาธิตสามารถใช้ได้กับเนื้อหาในทุกวิชาทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการสอนและผู้สอนวิเคราะห์แล้วการใช้กิจกรรมการสาธิตจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจได้ดีที่สุดเช่น การทดลองวิทยาศาสตร์ การสาธิตวิธีการประกอบอาหารหรือการสาธิตการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกายในท่าที่ถูกต้องฯลฯจะสังเกตได้ว่าเป้าหมายของการสอนแบบสาธิตคือต้องการให้ผู้เรียนได้เน้นกระบวนการของเรื่องหนึ่งเรื่องใดเพื่อที่ผู้เรียนจะได้นำไปปฏิบัติได้
 - บทบาทผู้สอน                                                                                                                                       
           วิธีสอนแบบสาธิตส่วนใหญ่จะเป็นบทบาทของผู้สอนมากกว่าผู้เรียนทั้งนี้การสอนแบบสาธิตจะมีลักษณะใกล้เคียงกับการแสดงโดยต้องการทำให้ดูและการบอกให้เข้าใจบางครั้งเรื่องที่สาธิตนั้นอาจจะมีขั้นตอนหรือต้องอาศัยความชำนาญการในการทำหรือบางครั้งเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการสาธิตนั้นมีราคาแพง หรือแตกหักชำรุดง่ายผู้สอนจึงต้องเป็นผู้ทำเสียเองอย่างไรก็ตามการสาธิตที่ดีนั้นผู้เรียนต้องมีส่วนร่วมด้วย โดยเฉพาะหากการเรียนการสอนเน้นอยู่ที่ตัวผู้เรียน ผู้เรียนต้องมีโอกาสได้สาธิตด้วยตนเองให้มากที่สุดเพื่อให้ได้ประสบการณ์ตรง
-บทบาทผู้เรียน
         วิธีสอนแบบสาธิตโดยทั่วๆไป ผู้เรียนจะมีบทบาทน้อยเป็นเพียงผู้ดูและผู้ฟังอาจจะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเล็กๆน้อยเท่านั้นแต่การสาธิตที่ดีต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุดยิ่งถ้ามีโอกาสได้รับประสบการณ์ตรงด้วยคือมีโอกาสได้ปฏิบัติภายหลังการสาธิตด้วยแล้วก็ยิ่งทำให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น
- ขั้นตอนการสอน
           ก่อนการสาธิต มีขั้นตอนปฏิบัติดังนี้
           1. การกำหนดวัตถุประสงค์ ของการสาธิตให้ชัดเจนว่าการสาธิตนั้นมีวัตถุประสงค์อย่างไรการสาธิตบางอย่างเป็นการสาธิตกระบวนการเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจกระบวนการ ขั้นตอน เช่น การสาธิต ขั้นตอนการยิงลูกโทษ การสาธิตการเตะตะกร้อ และการสาธิตบางเรื่องต้องการสาธิตให้เกิดผลตามที่ต้องการ เช่น การสาธิตในห้องทดลอง
          2. การเตรียมการ ผู้สอนต้องเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ในการสาธิต เตรียมขั้นตอนการสาธิตซึ่งวิธีการเตรียมที่ถูกต้องคือ ต้องลองสาธิตดูก่อน เป็นการตรวจสอบว่าขั้นตอนเหล่านั้นถูกต้องหรือไม่ หากเกิดปัญหาใด ๆ ขึ้นก็มีโอกาสแก้ไขได้ก่อน ขณะทำการสาธิตผู้สอนควรอธิบายหรือบรรยายให้ผู้เรียนเข้าใจเสียก่อน โดยเฉพาะควรจะบอกวัตถุประสงค์ของการสาธิตให้ผู้เรียนได้ทราบ หลังจากนั้นจึงนำเข้าสู่การสาธิต โดยการอธิบายให้ฟังหรือใช้สื่อต่าง ๆ อาจจะเป็นสไลด์ประกอบคำบรรยายหรือวีดิทัศน์ หรือวิธีการที่ผู้สอนทั่วไปใช้คือ การให้ผู้เรียนได้ศึกษามาก่อน โดยให้ไปอ่านเอกสาร หนังสือ หรือค้นคว้าเรื่องราวที่สาธิตนั้นก่อน ก็จะทำให้การสาธิตดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วและผู้เรียนเข้าใจได้ชัดเจนในขณะสาธิตผู้เรียนสาธิตต้องดำเนินการสาธิตไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ อาจจะสลับด้วยการบรรยายแล้วสาธิต วิธีที่จะทำให้บรรยากาศการสาธิตเป็นไปด้วยความตื่นเต้น ควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการสาธิตตลอดเวลา อาจจะเป็นการถามนำ กระตุ้น หรือให้ผู้เรียนช่วยสาธิตเรื่องราวบางเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนหรือมีขั้นตอนยุ่งยาก ผู้สาธิตก็ต้องสาธิตหลาย ๆ ครั้ง หรือให้ผู้เรียนทำตามไปด้วยเป็นขั้น ๆ ผู้สอนจะต้องชี้แนะหรือเน้นย้ำในส่วนที่สำคัญตลอดเวลา ดังนั้นการวางแผนสาธิตจำเป็นต้องเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี
ภายหลังการสาธิต
            เมื่อการสาธิตจบลงแล้ว การย้ำเน้นเรื่องราวที่สาธิตไม่ว่าจะเป็นการสาธิตกระบวนการหรือสาธิตผู้สอนก็ต้องให้มีการสรุป ทั้งนี้ผู้ดูหรือผู้เรียนเป็นผู้สรุปเอง โดยมีการอภิปรายแลกเปลี่ยนกัน หรือบางครั้งการจัดอาจจะจบลงด้วยการสรุปโดยวีดิทัศน์ หรือสไลด์ประกอบเสียง โดยการสอบถาม แจกแบบสอบถาม แบบทดสอบ ทั้งนี้อยู่ที่ระยะเวลาที่เหลือ
สื่อการสอนแบบสาธิต
           การสอนแบบสาธิตก็เช่นเดียวกับวิธีการสอนแบบอื่น ๆ ที่สามารถนำสื่อในรูปแบบต่าง ๆ มาใช้ได้ แต่ส่วนใหญ่การสาธิตนั้นหากเป็นการสาธิตที่ไม่ใช้วัสดุ อุปกรณ์ใด ๆ ตัวผู้สอนจะเป็นสื่อที่สำคัญ ดังนั้นผลของการสาธิตจะบรรลุตามวัตถุประสงค์หรือไม่จึงขึ้นอยู่กับผู้สอน แต่แนวทางที่จะให้การสอนแบบสาธิตเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การออกแบบการสอนแบบสาธิตซึ่งต้องให้ผู้เรียนมีบทบาทมากขึ้น จึงต้องให้ผู้เรียนมีบทบาทตั้งแต่ก่อนการสาธิตจนกระทั่งหลังการสาธิต
4.3 การวัดและประเมินผล
          การสอนแบบสาธิตส่วนใหญ่ผู้สอนหรือผู้สาธิตจะมีบทบาทในการประเมิน อาจจะโดยการสังเกต วิเคราะห์คำตอบว่าผู้เรียนเข้าใจหรือไม่เพียงใด แต่การประเมินที่ดีคือการให้ผู้เรียนได้ทำแบบทดสอบหรือแบบสอบถาม
5. ข้อดีและข้อจำกัดของการสาธิต
สื่อกิจกรรมประเภทการสาธิตมีข้อดีและข้อจำกัดดังนี้
ข้อดี
1) ทำให้ผู้เรียนได้ประสบการณ์ตรง
2) ทำให้ผู้เรียนเข้าใจง่ายและจดจำเรื่องที่สาธิตได้นาน
3) ทำให้ผู้เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง
4) ทำให้ประหยัดเงินและประหยัดเวลา
5) ทำให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์
ข้อจำกัด
1) หากผู้เรียนมีจำนวนมากเกินไปก็อาจทำให้การสังเกตไม่ทั่วถึง
2) ถ้าผู้เรียนเตรียมการมาไม่ดีเมื่อเวลาสาธิตวนไปวนมาหรือสาธิตไม่ชัดเจนก็ทำให้ได้ผลไม่ดี
3) ถ้าการสาธิตนั้นเน้นที่ผู้สอนโดยผู้เรียนไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติเลย ผู้เรียนก็อาจจะได้ประสบการณ์น้อย
4) ต้องมีการเตรียมตัวและฝึกฝนอย่างแม่นยำ
การจัดนิทรรศการ (Exhibition)
            นิทรรศการ หมายถึง การจัดแสดงสิ่งของวัสดุ อุปกรณ์มีความสัมพันธ์กันในแต่ละเรื่อง เพื่อเร้าความสนใจให้ผู้ชมมีส่วนร่วมและเรียนรู้ด้วยการดู ฟัง สังเกต จับต้อง และทดลองภายใต้จุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจุดมุ่งหมาย โดยการใช้สื่อหลายชนิด เช่น แผนภาพ หุ่นจำลอง ของจริง นอกจากนี้นิทรรศการยังสามารถจัดกิจกรรมอื่น ๆ ประกอบ เพื่อให้เกิดความสะดวก และรวดเร็วในการสื่อความหมายกับผู้ชม
 1. คุณค่าของนิทรรศการ
1.1ส่งเสริมการทำงานเป็นหมู่คณะฝึกความรับผิดชอบ ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในทางที่ดี
1.2 สื่อต่าง ๆ ที่นำมาจัดแสดงสามารถสื่อความหมายสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมได้
1.3 เป็นการจัดการเรียนการสอนตามอัธยาศัย ผู้เรียนมีอิสระในการเรียนรู้ด้วยการดู ฟัง สังเกต
1.4 สามารถนำความคิดที่กระจัดกระจายมารวมกันไว้ให้ผู้ชมสรุปเป็นความคิดรวบยอดได้อย่างถูกต้อง
2.ประเภทของการจัดนิทรรศการ    
นิทรรศการที่พบเห็นทั่วไปแบ่งได้หลายประเภท ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ คือ
2.2.1 การจำแนกตามขนาดได้แก่ การจัดแสดง นิทรรศการ มหกรรม
2.2.2 การจำแนกตามวัตถุประสงค์ในการจัด
2.2.3 การจำแนกตามระยะเวลา
2.2.4 การจำแนกตามสถานที่
 3. หลักการออกแบบสำหรับนิทรรศการ
           การจัดนิทรรศการให้มีประสิทธิภาพในการเร้าความสนใจ และให้ประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้ชม ควรยึดหลักการออกแบบดังต่อไปนี้
       3.1 ความเป็นเอกภาพ (Unity) หมายถึง การออกแบบทุกสิ่งทุกอย่างในการจัดนิทรรศการให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
       3.2 ความสมดุล (Balancing) หมายถึง การจัดสิ่งต่าง ๆ ให้ได้สัดส่วนที่ก่อให้เกิดความรู้สึกสบาย ไม่หนักหรือเบาไปด้านใดด้านหนึ่ง
       3.3 การเน้น (Emphasis) เป็นการจัดสิ่งเร้าให้ดูเด่นเร้าความสนใจตามวัตถุประสงค์ในการจัดนิทรรศการองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เป็นตัวเน้นได้ดี เช่น เส้น สี น้ำหนัก ทิศทาง ขนาด แสง เสียง เป็นต้น
       3.4 ความเรียบง่าย (Simplicity) การจัดสิ่งเร้าให้มีความเรียบง่ายจะช่วยให้รู้สึกสบายสะดุดตา
       3.5  ความแตกต่าง (Contrast) เป็นการจัดองค์ประกอบให้มีลักษณะแตกต่างกัน ให้ความรู้สึกตัดกัน เพื่อความชัดเจนและโดดเด่น
       3.6 ความกลมกลืน (Harmony) เป็นการจัดองค์ประกอบให้มีลักษณะใกล้เคียงกัน ให้ความรู้สึกกลมกลืน นุ่มนวล ราบเรียบ
4. ขั้นตอนในการจัดนิทรรศการ
4.1 ขั้นการวางแผน
- การตั้งวัตถุประสงค์
- การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย
- การกำหนดเนื้อหา
- การกำหนดสถานที่
- การกำหนดเวลา
- การตั้งงบประมาณ
- การออกแบบนิทรรศการ
- จัดเตรียมอุปกรณ์
- การประชาสัมพันธ์
- การกำหนดหน้าที่รับผิดชอบ
4.2 ขั้นการจัดแสดง
 -  การจัดวางหรือติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตามที่วางแผนและออกแบบไว้ แต่สามารถปรับปรุงได้บ้างเพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่จริง
-  การติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ทุกชิ้น ต้องมีความมั่นคง แข็งแรง ต้องระวังไม่ให้เกิดความเสียหายหรือเป็นอันตรายระหว่างการนำเสนอ
- การป้องกันอันตรายอย่างรอบคอบจากวัสดุอุปกรณ์ที่มีคม
-  ควรจัดพิธีกรให้คำแนะนำประจำกลุ่มเนื้อหาหรือกิจกรรมต่างๆเพื่อตอบข้อสงสัยผู้ชมระหว่างการชมนิทรรศการ
-  การตรวจสอบเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
- การประชาสัมพันธ์ภายในต้องใช้เสียงพอเหมาะกับจำนวนผู้ชมและบริเวณงาน
- ควรให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างเต็มใจ
- ขณะจัดแสดงอาจต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบ้างเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์จริง
4.3 ขั้นการประเมินผล เป็นขั้นติดตามคุณภาพและประสิทธิภาพในการจัดนิทรรศการแต่ละครั้ง
5.เทคนิคการจัดนิทรรศการ  
- การจัดแผ่นป้าย                                                                                                                                                                                                     
            แผ่นป้าย (board) หมายถึง แผ่นหนังสือหรือแผ่นเครื่องหมายที่บอกให้รู้(ราชบัณฑิตยสถาน, 2546, หน้า 696) เป็นวัสดุรองรับสื่อหรือเนื้อหาต่าง ๆ ที่นำมาจัดแสดงซึ่งมีหลายรูปแบบหลายลักษณะแตกต่างกัน มีทั้งรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้งสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวนอน บ้างเป็นแผ่นป้ายที่สามารถถอดประกอบกับขาตั้งไว้ บางป้ายยึดติดกับขาตั้งอย่างถาวร แผ่นป้ายบางชนิดเคลื่อนย้ายได้แต่บางป้ายติดอยู่กับที่อย่างตายตัวไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ วัสดุที่ใช้ทำแผ่นป้ายมีหลายชนิด เช่น ไม้อัด ไม้ไผ่สาน ไม้เนื้อแข็ง แผ่นพลาสติก แผ่นโลหะ แผ่นเซลโลกรีต เป็นต้น
5.1. ประเภทของแผ่นป้าย                                                                                                                        
             แผ่นป้ายมีหลายประเภท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการพิจารณา
5.1.1 การจำแนกตามวัสดุที่ใช้ทำ ได้แก่ ไม้ พลาสติก โลหะ
           - ไม้ เป็นวัสดุแข็งแรงแต่สามารถตกแต่งดัดแปลงได้ง่ายและสะดวกในการใช้งาน ไม้ที่เหมาะกับการทำแผ่นป้าย ได้แก่ ไม้อัด ซึ่งมีความหมายขนาดแต่ที่เหมาะกับการทำแผ่นป้ายนิเทศควรมีความหนาตั้งแต่ 6 มิลิเมตรขึ้นไป ขนาดของแผ่นป้ายที่นิยมทำกันโดยทั่วไป หากเป็นป้ายขนาดใหญ่จะมีขนาดประมาณ 112 x 244 ซ.ม. ขนาดกลางประมาณ 122 x 122 ซ.ม. ขนาดเล็กประมาณ 61 x 122 ซ.ม.
           - พลาสติก เป็นวัสดุสังเคราะห์มีหลายชนิด ชนิดที่สามารถนำมาทำแผ่นป้ายได้มีลักษณะเป็นแผ่นขนาดความกว้างยาวเท่ากับไม้อัด มีทั้งชนิดเนื้อทึบตันและชนิดโปร่งด้านในชนิดโปร่งด้านในหรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า ฟิวเจอร์บอร์ด ใช้งานได้ง่าย มีหลายสีให้เลือก น้ำหนักเบามากเหมาะกับการทำป้ายนิเทศแบบแขวน แต่ข้อเสียคือไม่แข็งแรง อายุการใช้งานสั้น
          -  โลหะ เป็นวัสดุที่มีความทนทานที่สุดแต่มีน้ำหนักมาก โดยเฉพาะเหล็กแผ่น หรือสแตนเลสแผ่น ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะในการสร้างสรรค์ดัดแปลง วัสดุโลหะเหมาะเป็นแผ่นป้ายกลางแจ้งหรือป้ายถาวรติดตั้งอยู่กับที่ไม่มีการเคลื่อนย้าย เนื้อหาเป็นเชิงประวัติศาสตร์หรือการบันทึกเพื่อเป็นหลักฐานสำคัญ ป้ายนิเทศโลหะสามารถแสดงถึงคุณค่า ความมั่นคงถาวร น่าเชื่อถือหากมีความเหมาะสมก็สามารถติดตั้งในอาคารได้
5.1.2 การจำแนกตามลักษณะการติดตั้ง ได้แก่ ป้ายที่เคลื่อนที่ได้และป้ายที่เคลื่อนที่ไม่ได้
            -  ป้ายที่เคลื่อนที่ได้ สามารถนำไปติดตั้งในบริเวณพื้นที่ต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ จึงจำเป็นต้องมีขาตั้งที่มั่นคง ไม่กระดกโยกแยก ขาตั้งอาจเป็นแบบติดตายตัวกับแผ่นป้ายหรือถอดประกอบเข้าออกได้ ซึ่งแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน
        -  ป้ายที่เคลื่อนที่ไม่ได้ เป็นป้ายนิเทศที่ติดตั้งอยู่กับที่อย่างถาวร ซึ่งอาจเป็นฝาผนังหรือบริเวณพื้นที่ที่สวยงาม ป้ายนิเทศแบบนี้มีข้อดีคือไม่ต้องเสียเวลาในการออกแบบติดตั้งอยู่บ่อย ๆ แต่มีข้อจำกัดคือเมื่อติดตั้งไว้นาน ๆ แล้วจะทำให้เกิดความเคยชิน จนอาจมีความรู้สึกชินชากับเรื่องราวหรือความรู้ที่นำเสนอในภายหลัง
5.1.3 การจำแนกตามลักษณะการใช้งาน ได้แก่ แบบสำเร็จรูป และแบบถอดประกอบ
            - แบบสำเร็จรูป เป็นป้ายนิเทศที่ออกแบบและจัดสร้างไว้เรียบร้อยแล้วพร้อมนำไปจัดแสดงหรือใช้งานได้ทันที
           - แบบถอดประกอบ เป็นชุดป้ายนิเทศที่ขาตั้งกับแผ่นป้ายแยกชิ้นจากกันเมื่อต้องการใช้งานจึงนำมาประกอบติดขาตั้งเข้าด้วยกัน
5.1.4 การจำแนกตามลักษณะการจัดแสดง ได้แก่ แบบตั้งแสดง แบบแขวน แบบติดฝาผนัง
          -  แบบตั้งแสดง เป็นป้ายนิเทศที่เห็นอยู่โดยทั่วไป เป็นแบบที่สะดวกในการออกแบบและติดตั้ง มีความมั่นคงสู สามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งและทิศทางได้ง่าย
         -  แบบแขวน เป็นป้ายนิเทศที่กระตุ้นความสนใจได้ดี ให้ความรู้สึกตื่นเต้นไม่สิ้นเปลืองขาตั้ง แต่มีข้อจำกัดคือต้องออกแบบราวแขวนให้แข็งแรงเหมาะกับน้ำหนักของแผ่นป้ายไม่สะดวกในการปรับเปลี่ยนตำแหน่งหรือทิศทาง
          -  แบบติดฝาผนัง ป้ายติดผนังช่วยในการประหยัดพื้นที่ในการตั้งแสดง ให้ความรู้สึกมั่นคง เป็นระเบียบ ทำให้บริเวณห้องจัดแสดงโล่ง แต่มีข้อจำกัดคือไม่สามารถออกแบบเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากติดตั้งไปตามทิศทางของฝาผนังเท่านั้น
5.2  เทคนิคการจัดทำแผ่นป้าย
          5. 2.1 แผ่นป้ายยึดติดกับขาตั้งอย่างถาวร มีลักษณะแต่ละป้ายติดตายตัวกับขาตั้งสามารถวางตั้งได้อย่างอิสระไม่ต้องพึ่งพิงเกาะเกี่ยวกับวัสดุอื่น ปลายขาด้านล่างมีกากบาทหรือแผ่นโลหะรองรับน้ำหนักช่วยให้แผ่นป้ายตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคง สามารถเคลื่อนย้ายปรับเปลี่ยนไปมาได้สะดวก แผ่นป้ายทำด้วยไม้อัดหรือไม้ไผ่สาน โดยทั่วไปนิยมทำเป็นขนาด 112 x 122 ซ.ม. หรือขนาดครึ่งแผ่นไม้อัด
         5.2.2 แผ่นป้ายอิสระ เป็นแผ่นป้ายอิสระไม่ยึดติดกับขาตั้ง สามารถถอดประกอบกับขาตั้งและอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ได้ ส่วนสำคัญของแผ่นป้ายแบบนี้ได้แก่ ขาตั้ง ซึ่งเป็นขาที่ได้รับการออกแบบเป็นพิเศษสามารถยึดเกาะแผ่นป้ายแล้วยืดหรือย่อให้สูงต่ำได้ ทำให้มีความยืดหยุ่นสูงในการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานที่ทั้งแนวตั้งและแนวนอน
      5.2.3 แผ่นป้ายสามเหลี่ยมรูปตัวเอ เป็นแผ่นป้ายยึดติดกับขาตั้งอีกแบบหนึ่งประกอบด้วยแผ่นป้าย 2 แผ่น ด้านบนติดบานพับทำให้สามารถพับเก็บและกางออกเพื่อตั้งแสดงได้เหมาะสำหรับตั้งแสดงไว้กลางห้องหรือบริเวณที่ห่างจากผนังห้อง เพราะผู้ชมจะสามารถชมเนื้อหาได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังขณะกางออกและตั้งแสดง
        5. 2.4 แผ่นป้ายแบบแขวน เป็นแผ่นป้ายไม่ยึดติดกับขาตั้งโดยตรงสามารถถอดประกอบได้ การติดตั้งต้องใช้วิธีแขวนกับราวหรือกรอบที่ทำไว้รองรับโดยเฉพาะซึ่งอาจต่อเติมเสริมแต่งให้มีหลังคาขึงด้วยผ้าดิบ หรือเป็นกรอบราวแขวนธรรมดาก็ได้ แผ่นป้ายแบบนี้ให้ความรู้สึกน่าสนใจ พิถีพิถัน ดูไม่แข็งกระด้าง เหมาะกับการนำเสนอเนื้อหาที่เป็นเรื่องพิเศษเฉพาะที่แปลกกว่าเรื่องอื่นทั่ว ๆ ไป หากเป็นป้ายมีหลังคาจะเหมาะกับนิทรรศการที่จัดแสดงเป็นเวลานาน ๆ หรือนิทรรศการภายนอกอาคาร
        5. 2.5 แผ่นป้ายแบบโค้งงอรูปเป็นรูปทรงต่าง ๆ เป็นแผ่นป้ายที่ทำจากแผ่นพลาสติกหรือพีวีซี ปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมในวงการธุรกิจ และหน่วยงานที่มีงบประมาณมากพอสมควร เพราะโดยทั่วไปแผ่นป้ายแบบนี้จะผลิตเนื้อหาเป็นรูปภาพและตัวอักษรจากระบบการพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ ออกมาเป็นภาพเหมือนจริงขนาดใหญ่ สามารถออกแบบตกแต่งให้ได้ผลงานตามจินตนาการหรือตามวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
        5. 2.6 แผ่นป้ายแบบกำแพง เป็นแผ่นป้ายที่มีความหนาเป็นพิเศษด้านล่างยึดติดกับฐานกล่องรูปสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยมทำให้สามารถวางตั้งได้ตามลำพัง แผ่นป้ายแบบนี้ให้ความรู้สึกมั่นคง แข็งแรง จึงเหมาะกับการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับความเชื่อถือศรัทธา ความเป็นปึกแผ่น ความสามัคคี ความมั่นคงถาวร เช่นเรื่องพระมหากษัตริย์ ศาสนา ราชการ การเมืองการปกครอง เป็นต้น
        5. 2.7 แผ่นป้ายสำหรับจัดร้านขายสินค้า เป็นแผ่นป้ายหลายแผ่นเมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้วทำให้เกิดบริเวณพื้นที่ที่แสดงขอบเขตเฉพาะขึ้น อาจเป็นห้องรูปสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม เป็นเกาะรูปสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม หรือวงกลมที่ผู้ชมสามารถเดินดูได้โดยรอบ แผ่นป้ายแบบนี้จะได้รับการออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้สามารถยึดเกี่ยวกันเป็นรูปทรงหรือบริเวณตามต้องการ สามารถนำตัวอย่างสินค้าผลิตภัณฑ์มานำเสนอผสมผสานกับรูปภาพ และข้อความบนแผ่นป้าย ทำให้ผู้ชมเข้าใจประทับใจกับสิ่งต่าง ๆ ในขอบเขตที่แผ่นป้ายตั้งแสดงได้
        5.2.8 แผ่นป้ายตั้งแสดง เป็นแผ่นป้ายที่มีโครงสร้างสามารถพับยืดและเก็บได้มีความหนาประมาณ 40 ซ.ม. บางคนเรียกว่า ป๊อปอัพแสตน(pop-up stand) สามารถวางตั้งแสดงได้ด้วยตัวเอง และเนื่องจากเป็นแผ่นป้ายขนาดใหญ่พอสมควรจึงสามารถเร้าความสนใจได้ดี ทั้งยังทำหน้าที่เป็นฉากหลังสำหรับบริเวณจัดแสดงด้านหน้าได้อีก
         5.2.9 แผ่นป้ายผืนธง เป็นป้ายที่มีลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีข้อความเชิญชวนคำขวัญ คำโฆษณา หรือรูปภาพ ในวงการโฆษณานิยมเรียกว่า แบนเนอร์ (banner) เป็นสื่อใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงทั้งในวงการธุรกิจเอกชน การศึกษา การเมือง การตลาด การโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ เนื่องจากราคาไม่แพงมากนัก มีขนาดเล็กน้ำหนักเบามาก สามารถติดตั้งง่ายเหมือนป้ายผ้าโฆษณาธรรมดาแต่มีรูปแบบสวยกว่าสามารถสร้างสรรค์และออกแบบตกแต่งภาพด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ได้ภาพตามต้องการได้โดยเฉพาะการสร้างภาพเหมือนจริงซึ่งเป็นภาพที่ไม่สามารถเขียนได้ด้วยมือ
- คุณค่าของป้ายนิเทศ
           ป้ายนิเทศเป็นสื่อที่มีคุณค่าหลายประการ เช่น เป็นสื่อเร้าความสนใจผู้ชมโดยใช้รูปภาพ ข้อความ และสัญลักษณ์ที่สวยงามและมีความหมายต่อผู้ชม ใช้ในการจัดแสดงแจ้งข่าวสารผู้ชมสามารถศึกษาเนื้อหาได้ซ้ำแล้วซ้ำอีกตามความพอใจ ช่วยประหยัดเวลาในการสอนและการสื่อ ความหมายเพื่อถ่ายทอดความรู้ นิยมใช้เป็นสื่อหลักที่สำคัญในการจัดแสดงหรือนิทรรศการทุกประเภท ป้ายนิเทศที่จัดอย่างสวยงามสามารถใช้เป็นสิ่งประดับตกแต่งห้องหรือบริเวณได้
- หลักการและเทคนิคการจัดป้ายนิเทศ
         1. หลักการจัดป้ายนิเทศ การจัดป้ายนิเทศให้มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นความสนใจและการสื่อความหมายควรคำนึงถึงหลักการต่อไปนี้
- การกระตุ้นความสนใจ
- การมีส่วนร่วม
- การตรึงความสนใจ
- ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบ
- การเน้น
- การใช้สี
          2. เทคนิคการจัดป้ายนิเทศ การจัดป้ายนิเทศที่ดีมีคุณค่าในการสื่อความหมายควรมีองค์ประกอบต่าง ๆ และเทคนิคดังต่อไปนี้
       ชื่อเรื่อง จะต้องสั้น อ่านง่าย เด่นชัด สามารถมองเห็นได้ในระยะไกลดึงดูดความสนใจได้ทันทีข้อความเชิญชวนหรือคำอธิบาย ควรมีลักษณะกระทัดรัด สั้นอ่านง่ายได้ใจความชัดเจน จัดช่องไฟได้เหมาะสม ควรเขียนข้อความให้ผู้ชมมีความรู้สึกว่าเขามีส่วนร่วมด้วยการสร้างมิติเพื่อการรับรู้ การสร้างภาพลวงตาให้ดูว่าป้ายนิเทศมีลักษณะตื้นลึกด้วยเส้นหรือแถบสี
- การใช้สี แสง เงา และบริเวณว่าง
- การเคลื่อนไหว
- การใช้รูปภาพ
- การจัดองค์ประกอบ
- การตกแต่งพื้นป้ายนิเทศ
- การจัดป้ายนิเทศร่วมกับสื่ออื่นจะช่วยให้การถ่ายทอดเนื้อหาสมบูรณ์และน่าสนใจยิ่งขึ้น
- การใช้เนื้อหาหรือกิจกรรมเป็นตัวกำหนด
- การจัดป้ายนิเทศให้สอดคล้องกับเนื้อหาและวัตถุประสงค์
          1. การจัดภาพบนหน้าต่างหรือแบบวินโดว์ ภาพแบบหน้าต่างหรือแบบวินโดว์ (window) เป็นการจัดเพื่อเน้นรายละเอียดด้วยรูปภาพขนาดใหญ่เพียงภาพเดียว ทำให้ภาพมีความโดดเด่น สะดุดตาสามารถดึงดูดความสนใจผู้ชมได้
        2. การจัดภาพแบบละครสัตว์ การจัดภาพแบบละครสัตว์ (circus) เป็นการจัดภาพที่มีลักษณะเป็นกลุ่มๆ กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ผู้ชมจะมีอิสระในการเลือกชมรูปภาพหรือเลือกอ่านเนื้อหาตามใจชอบ ดังนั้นการจัดภาพแบละครสัตว์จึงเหมาะกับเนื้อหาที่มีหลายหัวข้อย่อยแต่ไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับ
       3. การจัดภาพแบบแกน การจัดภาพแบบแกน (axial) เป็นการจัดภาพที่มีรูปภาพอยู่ตรงกลางและมีคำอธิบายกำกับทั้งด้านซ้ายและด้านขวาหรือโดยรอบ การจัดแบบนี้จึงมีลักษณะคล้ายแผนภูมิหรือแผนภาพเหมาะกับเนื้อหาที่ต้องการถ่ายทอดความรู้เป็นเฉพาะจุดหรือตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งที่ต้องการ
      4. การจัดภาพแบบกรอบภาพ การจัดภาพแบบกรอบภาพ (frame) เป็นการจัดโดยนำภาพที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวางเรียงต่อเนื่องกันล้อมรอบเนื้อหาข้อความ จนดูเหมือนกรอบภาพ ทำให้ป้ายนิเทศดูเด่นสะดุดตา การจัดลักษณะนี้ช่วยให้ผู้ชมได้ ข้อคิดความรู้จากเนื้อหาที่อยู่ตรงกลางประกอบกับรูปภาพที่เรียงรายกันเป็นกรอบอยู่รอบ ๆ
      5. การจัดภาพแบบตาราง การจัดภาพแบบตาราง (grid) เป็นการจัดภาพไว้ในตารางซึ่งอาจเว้นช่องใดช่องหนึ่งหรืออาจขยายภาพใดภาพหนึ่งเพื่อให้เกิดจังหวะระหว่างรูปภาพทำให้ดูแปลกตาและในส่วนที่ช่องว่างยังทำหน้าที่เป็นที่พักสายตาผู้ชมไปด้วย การจัดภาพแบบนี้เหมาะกับเนื้อหาที่มีองค์ประกอบหลายแง่มุมแต่ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับก่อนหลัง
       6. การจัดภาพแบบแถบ การจัดภาพแบบแถบ (band) เป็นการจัดรูปภาพและเนื้อหาที่เรียงตามลำดับขั้นตอนตั้งแต่ขั้นต้นถึงขั้นสุดท้าย แสดงให้เป็นลำดับขั้นเช่น การขับรถยนต์ การทำนา การผ่าตัดอวัยวะภายใน การทำน้ำตาลทราย การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ กระบวนการทำหนังสือพิมพ์เป็นต้น การจัดป้ายนิเทศแบบนี้จะช่วยให้ผู้ชมเข้าใจเนื้อหาอย่างเป็นขั้นตอนได้ดี
        7. การจัดภาพแบบแกน การจัดภาพแบบแกน (path) เป็นการจัดให้รูปภาพหรือเหตุการณ์เรียงกันอย่างต่อเนื่องไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งซึ่งอาจคดเคี้ยวโค้งงอไปตามจังหวะที่สวยงาม ขณะเดียวกันก็จะแทรกเนื้อหาซึ่งเป็นข้อความไปตามช่องว่างที่มีพื้นที่เหมาะสม การจัดป้ายนิเทศแบบนี้เหมาะกับการนำเสนอเนื้อหาหรือเหตุการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาไปตามลำดับการกำหนดบริเวณว่างในนิทรรศการ
       บริเวณว่างเป็นองค์ประกอบสำคัญในการจัดนิทรรศการ สามารถทำให้นิทรรศการมีคุณค่าและประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้เป็นอย่างดี บริเวณว่างจะเข้าไปเกี่ยวข้องและมีอิทธิพลต่อองค์ประกอบอื่น ทำให้ผู้ชมเกิดความพึงพอใจในประโยชน์ใช้สอยและความงามจากการออกแบบและการกำหนดบริเวณว่างที่เหมาะสม แต่ถ้าบริเวณว่างมีมากหรือน้อยเกินไปจะส่งผลเสียทำให้ผู้ชมรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยว หรืออึดอัดคับข้องใจ ดังนั้นจึงควรคำนึงถึงลักษณะและการออกแบบบริเวณว่างดังนี้
1. ลักษณะของบริเวณว่าง
           บริเวณว่างมี 2 ลักษณะได้แก่ บริเวณว่างที่ใช้สอยให้เกิดประโยชน์ (positive space) และบริเวณว่างที่นอกเหนือจากการใช้สอย (negative space) อย่างไรก็ตามบริเวณว่างทั้งสองลักษณะมีความสัมพันธ์และส่งผลกระทบซึ่งกันและกันเสมอ
2. การออกแบบบริเวณว่าง
            2.1 การจัดองค์ประกอบแนวตั้ง องค์ประกอบแนวตั้ง โดยปกติจะกินพื้นที่อากาศในแนวดิ่ง มองโดยรวมจะเป็นเส้นตั้ง (linear vertical element) จะช่วยกำหนดขอบมุมของปริมาตรของที่ว่าง (บัณฑิต จุลาสัย, 2533, หน้า 59) แต่ถ้ากำหนดให้มีองค์ประกอบลักษณะเดียวกันมากกว่า 2 องค์ประกอบขึ้นไป และวางในตำแหน่งมุมต่างกันที่ไม่ใช่แถวเดียวกัน
          2.2 การจัดองค์ประกอบระนาบแนวตั้ง องค์ประกอบระนาบแนวตั้ง มีลักษณะแผนกั้นเป็นฉากหลังของพื้นที่ระนาบแนวตั้ง (linear vertical plane) จะสร้างที่ว่างหน้าระนาบ (บัณฑิต จุลาสัย, 2533, หน้า59) ก่อให้เกิดบริเวณว่างขึ้นด้านหน้าของระนาบแนวตั้ง 90 องศา บริเวณว่างที่เกิดขึ้นใหม่สามารถเชื่อมโยงสัมพันธ์กับบริเวณด้านหน้าได้อย่างกลมกลืน ส่วนบริเวณว่างด้านข้างทั้งสองข้างมีความสัมพันธ์กับพื้นที่ว่างด้านหน้าของระนาบน้อยมาก
        2.3 การจัดองค์ประกอบระนาบแนวตั้งรูปตัวแอล (L) องค์ประกอบระนาบแนวตั้งรูปตัวแอล หรือระนาบมุมฉาก (L-shaped planes) ช่วยสร้างปริมาตรของที่ว่างภายในมุมฉาก (บัณฑิต จุลาสัย, 2541, หน้า 73) เป็นระนาบแนวตั้ง 2 ด้านบรรจบกันที่มุมใดมุมหนึ่ง ก่อให้เกิดสนามบริเวณว่างจากมุมตามแนวทแยงมุมทั้งนี้เนื่องมาจากการรวมตัวกันของบริเวณว่างที่เกิดจากระนาบแนวตั้งทั้ง 2 ด้าน ทำให้สามารถดึงดูดความสนใจผู้ชมได้จากมุมกว้างให้มุ่งตรงไปยังจุดสนใจเพียงจุดเดียวได้ง่ายขึ้น
        2.4 การจัดองค์ประกอบระนาบแนวตั้งขนานกัน องค์ประกอบระนาบแนวตั้งขนานกัน หรือระนาบคู่ขนาน (parallel planes) จะช่วยสร้างปริมาตรของที่ว่างระหว่างระนาบทั้งสองและแสดงทิศทางตามระนาบคู่ขนาน (บัณฑิต จุลาสัย, 2541, หน้า 79) ระนาบแบบนี้จะกำหนดบริเวณว่างระหว่างคู่ขนานนำไปสู่ด้านที่เปิดออก (ทิพย์สุดา ปทุมานนท์, 2535, หน้า 55) เป็นระนาบที่ก่อให้เกิดบริเวณว่างจากระนาบแนวตั้งทั้ง 2 ด้านเข้ามารวมตัวกันตรงกลาง ทำให้ปริมาตรบริเวณว่างที่เกิดขึ้นใหม่เชื่อมโยงกับบริเวณว่างภายนอกตามแนวขนานได้ 2 ทาง
       2.5 การจัดองค์ประกอบระนาบรูปตัวยู องค์ประกอบระนาบรูปตัวยู (U) เป็นระนาบปิดล้อมสามด้าน (U-shaped planes) สร้างปริมาตรของที่ว่างระหว่างระนาบทั้งสามและแสดงทิศทางทางด้านเปิด (บัณฑิต จุลาสัย, 2535, หน้า 73) เป็นบริเวณว่างที่เกิดจากระนาบแนวตั้ง 3 ด้านบรรจบกันเข้าเป็นรูปตัวยูทำให้ด้านหนึ่งที่เหลือเปิดออกสู่บริเวณว่างด้านนอก การกำหนดบริเวณว่างแบบนี้มีจุดเด่นคือความเป็นเอกเทศที่สามารถออกแบบและสร้างสรรค์องค์ประกอบให้เป็นไปตามจินตนาการได้ง่าย
        3. การกำหนดบริเวณว่างในเชิงจิตวิทยา
         การใช้บริเวณว่างในเชิงจิตวิทยาเพื่อการเชิญชวนลูกค้าหรือผู้ชมเข้าชมและร่วมกิจกรรมควรคำนึงถึงธรรมชาติของการปฏิสัมพันธ์และการแสดงออกของผู้ชม โดยเฉพาะลูกค้าใหม่หรือผู้ชมที่ยังไม่คุ้นเคยกับสินค้าผลิตภัณฑ์ใหม่ ควรยึดหลักสำคัญคือการหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางใด ๆ ทุกชนิดระหว่างทางสัญจรภายนอกกับบริเวณภายในนิทรรศการ เช่น พื้นที่ต่างระดับกัน การใช้เส้นขวางหรือสีกำหนดขอบเขต โต๊ะ แผงกั้นราว ตู้ ชั้นวางสิ่งของ แต่หากเป็นผู้ชมที่ต้องการปรึกษาในรายละเอียด จำเป็นต้องจัดบริเวณพิเศษแยกจากส่วนผู้ชมทั่วไป
        การกำหนดทางเดินชมนิทรรศการ
1. การสัญจรทิศทางเดียวชมได้ด้านเดียว
2. การสัญจรทิศทางเดียวชมได้ 2 ด้าน
3. การสัญจรอย่างอิสระตามความต้องการ
นาฏการ (Dramatization)
         นาฏการ หมายถึง การแสดงต่าง ๆ ที่จัดขึ้นสำหรับถ่ายทอดความเข้าใจระหว่างผู้แสดงกับผู้ดูการแสดงนาฏการเป็นการเสนอสิ่งเร้าที่เป็นของจริง หรือเสมือนของจริง ซึ่งเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้เรียนสนใจ และเอื้อประโยชน์ให้เกิดการเรียนรู้ได้สะดวก นาฏการสามารถจัดลำดับการเสนอเป็นเรื่องราวให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกเสมือนว่าตัวเองเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ ด้วย
1. คุณค่าของนาฏการ
1.1 ทำให้บทเรียนเป็นจริงเป็นจัง น่าสนใจ เกิดความประทับใจและจดจำได้นาน
1.2 นักเรียนได้ฝึกทักษะทางภาษา
1.3 ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงออกได้เข้าใจ
1.4 ฝึกความคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหาร่วมกัน
1.5 สร้างและเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้เรียนไปในทางที่ดี
1.6 ช่วยระบายความเครียดและสนองความต้องการตามธรรมชาติของเด็ก
2.ประเภทของนาฏการ
 ประเภทของนาฏการแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
         2.1 ประเภทของนาฏการที่แสดงด้วยคนได้แก่ การแสดงละคร ละครใบ้ หุ่นชีวิต การแสดงกลางแปลง และการแสดงบทบาทสมมุติ
            2.1.1 การแสดงละคร (Play) เป็นการแสดงที่เห็นถึงความเป็นอยู่อุปนิสัยหรือวัฒนธรรมหรือทั้งสามรวมกันในการแสดงละครจะต้องจัดให้ใกล้เคียง กับสถานการณ์จริง ๆ มากที่สุดโดยอาจต้องจัดสภาพแวดล้อม จัดฉากการแต่งกายและส่วนประกอบต่าง ๆ รวมถึงการเตรียมบทการฝึกซ้อม
            2.1.2 ละครใบ้และหุ่นชีวิต(Pantomime and Tableau) ละครใบ้เป็นการแสดงลักษณะท่าทางการเคลื่อนไหวและสีหน้าให้ผู้ดูเข้าใจ โดยผู้แสดงไม่ต้องใช้คำพูดเลย  การแสดงเช่นนี้ช่วยฝึกพัฒนาการในด้านการเคลื่อนไหวอวัยวะต่าง ๆ ให้ผู้ดูเข้าใจ
            2.1.3  การแสดงกลางแปลง (Pageant) เป็นการแสดงกลางแจ้ง เพื่อการถ่ายทอดศิลปะและวัฒนธรรมพื้นบ้านตลอดถึงประเพณีหรือพิธีการต่าง ๆ ในท้องถิ่น โดยใช้ผู้แสดงหลายคน
            2.1.4 การแสดงบทบาท (Role Playing) เป็นการแสดงโดยใช้สถานการณ์จริง หรือเลียนแบบสถานการณ์จริงในสภาพที่เป็นปัญหา มาให้ผู้เรียนหาวิธีแก้หรือใช้ความสามารถความคิดในการวินิจฉัย ตัดสินปัญหาในช่วงเวลา 10-15 นาที การแสดงแบบนี้ส่วนมาก ไม่มีการซ้อมหรือเตรียมการล่วงหน้า ผู้แสดงจะใช้ความสามารถและแสดงบทบาทไปอย่างอิสระ
       2.2 ประเภทของนาฏการที่แสดงด้วยหุ่น ได้แก่ หนังตะลุง หุ่นเสียบไม้ หุ่นสวมมือ และหุ่นชักใย
            หุ่น (Puppets) เป็นตัวละครที่ไม่มีชีวิต เคลื่อนไหวด้วยการกระทำของมนุษย์เรา สร้างหุ่นด้วยวัสดุง่าย ๆ เพื่อการถ่ายทอดเรื่องราวและแนวคิดต่าง ๆ ให้กับผู้เรียนโดยเฉพาะกับเด็กในวัย 2-6 ปี เด็กในวัยนี้ชอบการเล่น สมมุติ และเรื่องราวที่เป็นจินตนาการ การเคลื่อนไหวของหุ่นจึงสามารถเร้าความสนใจของเด็กได้เป็นอย่างดี
ประเภทของหุ่นมีหลายประเภทแตกต่างกันดังนี้
        2.2.1 หุ่นเงา (Shadow Puppet) เป็นหุ่นที่ฉลุจากหนังสัตว์ หรือกระดาษแข็งแล้วใช้ไม้ไผ่ยึดเป็นโครงสำหรับเชิดและบังคับให้หุ่นเคลื่อนไหว เวลาแสดงจะต้องใช้ตัวหุ่นอยู่หลังจอ แล้วใช้แสงส่องให้เกิดเงาบนจอ เช่น หนังตะลุง
         2.2.2 หุ่นเสียบไม้ หรือหุ่นกระบอก (Rod Puppet) เป็นหุ่น 3 มิติที่ใช้แท่งไม้เสียบกับคอหุ่นเพื่อให้ผู้เชิดถือขณะเชิดหุ่นการทำหุ่นชนิดนี้มีตั้งแต่แบบยาก ๆ เช่น กระพริบตา ขยับปากได้จนถึงแบบง่าย ๆ ที่ไม่มีส่วนเคลื่อนไหว ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอนได้ เวลาแสดงหุ่นแบบนี้ผู้เชิดหุ่นจะอยู่ตอนล่างด้านหลังของเวที
          2.2.3 หุ่นสวมมือ (Hand Puppet) เป็นหุ่นขนาดเล็กครึ่งตัวมีขนาดพอเหมาะกับขนาดของมือที่เชิดหุ่นหัวหุ่นทำด้วยกระดาษหรือผ้าเป็นหัวคน หรือสัตว์ มีเสื้อต่อที่คอหุ่นใต้ลำตัวและแขนกลวง เพื่อสอดมือเข้าไปเชิดให้เกิดการเคลื่อนไหวเนื่องจากหุ่นมือเป็นหุ่นที่ทำได้ง่าย เชิดง่าย จึงนิยมนำมาใช้ในการเรียนการสอนมากกว่าหุ่นชนิดอื่น   
         2.2.4  หุ่นชัก (Marionette) เป็นหุ่นเต็มตัว ที่ใช้เชือก ด้าย หรือไนล่อนผูกติดกับอวัยวะต่าง ๆ ของหุ่น แล้วแขวนมาจากส่วนบนของเวที ผู้ชักหุ่นจะบังคับเชือกควบคุมการเคลื่อนไหวของหุ่นให้ทำกิริยาท่าทางต่าง ๆ ได้คล้ายคนจริง ๆ แต่การบังคับหุ่นทำได้ยากและต้องใช้เวลาฝึกฝนนานจึงไม่ค่อยได้นำมาใช้ในวงการศึกษามากนัก
  -  คุณค่าของหุ่น
        1. หุ่นใช้แสดงเรื่องราวต่าง ๆ ได้สะดวกและง่ายกว่าการแสดงโดยใช้คนจริง ทำให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
        2. ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างทั่วถึง
        3. พัฒนาทักษะในการเขียน การคิด การแสดงออก การทำงานกลุ่มและช่วยเหลือเด็กขี้อายให้มีความกล้ามากขึ้น
        4. ผู้เรียนทุกคนพอใจและสนใจในการเรียน
  - หลักการใช้หุ่นกับการสอน
        1. เวลาที่ใช้แสดงควรเป็นช่วงสั้น ๆ
        2. พิจารณาว่าได้ประโยชน์คุ้มค่ากับการลงทุนลงแรงเพียงไร เพราะการใช้นาฏการอาจต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเครื่องแต่งกาย และวัสดุต่าง ๆ
       3. พยายามให้เด็กทุกคนมีส่วนร่วมในการแสดงให้มากที่สุด แม้จะไม่ได้เป็นตัวละครก็ควรให้มีส่วนในการวางแผน ช่วยเหลือการแสดงและประเมินผล
      4. จัดนาฏการให้เหมาะสมกับพื้นฐานความรู้ ความสนใจ และวุฒิภาวะของเด็ก
      5. ควรใช้สื่อการสอนอื่นมาประกอบด้วย
      6. ควรเลือกแสดงในเรื่องที่สามารถทำเรื่องยากให้ง่ายต่อการเข้าใจ เรื่องนามธรรมให้เป็นรูปธรรม หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรมจริยธรรมต่าง ๆ
     7. จัดนาฏการให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน


การใช้ชุมชนเพื่อการศึกษา (Community Study)
         การใช้ชุมชนเพื่อการศึกษา หมายถึง การใช้แหล่งวิชาการและสภาพแวดล้อมของชุมชนให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ เพื่อขยายประสบการณ์ของผู้เรียนให้กว้างขวางมีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้นและช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ประสบการณ์ไปใช้แก้ปัญหาในการดำรงชีวิตในโอกาสต่อไปได้อย่างดี
1.ประโยชน์ของการใช้ชุมชนเพื่อการศึกษา
     1.1 ทำให้ผู้เรียนคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมและรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม
     1.2 เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้นำความรู้จากห้องเรียนไปใช้จริง ๆ กับการเชื่อมโยงสภาพการณ์ในห้องเรียนกับสภาพความเป็นจริง
     1.3 แหล่งวิชาการในชุมชน ขยายความรู้เพิ่มเติมจากที่ครูสอนในหลักสูตรให้สมบูรณ์ขึ้นช่วยให้นักเรียนพบเห็นสิ่งที่เป็นจริง
     1.4 แหล่งวิชาการในชุมชนมีมากมายอยู่แล้ว ทั้งสถานที่และบุคคล ถ้าครูเลือก และนำมาใช้ให้เหมาะสมก็จะได้ผลคุ้มค่า เพราะเสียค่าใช้จ่ายน้อยหรือไม่เสียเลย
     1.5 เปลี่ยนบรรยากาศในการเรียน ให้ผู้เรียนได้พบสิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ เร้าความสนใจและเพิ่มพูนความเข้าใจ
1.6 ฝึกนิสัยช่างซักถาม และสังเกตพิจารณา
1.7 ฝึกการทำงานร่วมกัน ฝึกความรับผิดชอบ มนุษยสัมพันธ์ ระเบียบวินัย และการตรงต่อเวลา
1.8 เปิดโอกาสให้นักเรียนใช้ทักษะด้านการพูดภาษา การเขียน การคิดคำนวณ ศิลปะ
1.9 แก้ปัญหาครูไม่มีความรู้ ความคุ้นเคยกับชุมชน
1.10 มีผลต่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทัศนคติผู้เรียน
       1.11 สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถานศึกษาและชุมชน นับเป็นการประชาสัมพันธ์สถานศึกษาอย่างหนึ่ง
2. แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ในชุมชน
    แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ในชุมชนมีหลายประเภท กล่าวโดยสรุปคือ
         2.1 บุคคล ได้แก่ ผู้มีประสบการณ์โดยตรงอยู่ในสาขาอาชีพต่าง ๆ เช่น ตำรวจ พ่อค้า นักธุรกิจ เกษตรกร
   2.2 สถานที่ได้แก่ทุ่งนา แม่น้ำ ภูเขา ป่าไม้ โรงงาน สถานที่ราชการสโมสรและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ
        2.3 วัสดุอุปกรณ์ในชุมชนที่สามารถนำมาเป็นสื่อการสอน เช่น เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ผลผลิตทางการเกษตรและงานศิลปหัตถกรรมในชุมชน
        2.4 กิจกรรมของชุมชน ได้แก่ การละเล่นพื้นบ้าน งานประเพณี และพิธีต่าง ๆ เช่น การบวช แต่งงาน ทอดกฐิน
3. วิธีการใช้ชุมชนเพื่อการศึกษา
       3.1 การศึกษาภายในบริเวณโรงเรียน เป็นการใช้แหล่งทรัพยากรนอกห้องเรียนที่ทำได้สะดวกที่สุด แหล่งวิชาการอาจเป็นได้ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตในบริเวณโรงเรียน เช่น สนามหญ้าต้นไม้ สระน้ำ
       3.2 การศึกษาในชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่ หมายถึง สถานที่ในชุมชนที่ไม่ไกลจากโรงเรียนมากนัก การศึกษาแบบนี้ทำได้ง่ายไม่สิ้นเปลืองทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย ไม่ต้องขออนุญาตเจ้าสังกัดให้ยุ่งยากวุ่นวาย
      3.3 การเชิญวิทยากรมาบรรยาย หมายถึง การเชิญบุคลากรจากสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่มีประสบการณ์โดยตรง
      3.4 การทัศนาจรการศึกษาหรือทัศนศึกษา เพื่อการพานักศึกษาออกไปศึกษาหาความรู้จากแหล่งชุมชนอื่นที่ไกลจากที่โรงเรียนตั้งอยู่ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามระเบียบของสถานศึกษาและต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองของผู้เรียนก่อนด้วย
สถานการณ์จำลอง (Stimulation)
        สถานการณ์จำลอง เป็นการจัดสภาพแวดล้อมเลียนแบบของจริงให้ใกล้เคียงสภาพความเป็นจริงให้มากที่สุด เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกหัดแก้ปัญหาและตัดสินใจจากสภาพการณ์ที่เขากำลังเผชิญอยู่นั้น การจัดสถานการณ์จำลอง เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับคนที่ออกไปเผชิญกับปัญหาจริง ๆ เช่น นักเรียนฝึกหัดครู ก่อนที่จะสอนต้องได้รับการฝึกฝนด้านวิชาการสอน วิธีฝึกอย่างหนึ่งที่ได้ผลดีคือ การฝึกจากสถานการณ์จำลองนั่นเอง
      1. ขบวนการแก้ปัญหาในสถานการณ์จำลอง เมื่อเสนอสถานการณ์จำลองให้กับผู้เรียนแล้ว ครูควรสรุปแนวทางในการแก้ปัญหาให้กับผู้เรียนแล้วให้นักเรียนเข้าร่วมมีบทบาทในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง แนวทางในการแก้ปัญหาโดยทั่วไปจะประกอบด้วย
1.1 ปัญหาคืออะไร
1.2 สาเหตุของปัญหา
1.3 รวบรวมข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ
1.4 หาทางเลือกสำหรับการตัดสินใจ (อาจมีหลายทาง)
1.5 ตัดสินใจเลือกวิธีแก้ปัญหาที่มีเหตุผลดีที่สุด
1.6 ลงมือแก้ปัญหาตามวิธีที่เลือก
1.7 ประเมินผลการแก้ปัญหา
1.8 พิจารณาปรับปรุงผลของการแก้ปัญหาเพื่อนำไปใช้ต่อไป
2. การใช้สถานการณ์จำลองในการเรียนการสอน
ลำดับขั้นในการใช้สถานการณ์จำลองในการสอน ครูอาจทำได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้ คือ
 2.1 ผู้สอนเสนอสถานการณ์ที่ทำให้เกิดปัญหา
2.2 ผู้เรียนศึกษาปัญหารวบรวมข้อมูลเอเป็นแนวทางตัดสินใจ และแก้ปัญหาตามขั้นตอน จนกระทั่งได้ข้อสรุปการทำงานในขั้นนี้นิยมแบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่มย่อย เพื่อหาแนวทางของแต่ละกลุ่ม
2.3 แต่ละกลุ่มเสนอวิธีการแก้ปัญหาของตนต่อชั้นเรียน
2.4 ผู้สอนและผู้เรียนช่วยกันประเมินค่าโดยพิจารณาเหตุผลว่าวิธีการใดที่ดี และมีเหตุผลดีที่สุด สำหรับการแก้ปัญหานั้น ๆ
    การศึกษานอกสถานที่ (Field Trip)
        การศึกษานอกสถานที่หรือทัศนศึกษา หมายถึง กิจกรรมที่พาผู้เรียนออกไปหาประสบการณ์นอกห้องเรียน เพื่อให้เกิดการเรียนที่สอดคล้องกับเนื้อหาและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ การไปทัศนศึกษาต่างจากการทัศนาจรโดยทั่ว ๆ ตรงที่ การทัศนาจรมุ่งความสนุกสนานเพลิดเพลินเป็นสำคัญ ส่วนการศึกษานอกสถานที่เน้นการเรียนรู้เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน ซึ่งต้องอาศัยการวางแผนและการดำเนินการอย่างมีขั้นตอนเป็นสำคัญ
1. คุณค่าของการศึกษานอกสถานที่
1. ช่วยให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ตรง
2. ช่วยให้บทเรียนมีความหมายยิ่งขึ้น
3. ช่วยให้ฝึกฝนระเบียบวินัย การตรงต่อเวลา และมนุษยสัมพันธ์
4. ช่วยส่งเสริมการทำงานร่วมกันทั้งก่อนและหลังการทำกิจกรรมทัศนศึกษา
5. ช่วยให้ผู้เรียนได้ร่วมกิจกรรมการเรียนอย่างเพลิดเพลิน
6. ช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปในลักษณะบูรณาการ
2.ขั้นตอนในการศึกษานอกสถานที่
  2.1 ขั้นการเตรียมหรือการวางแผน
 การเตรียมสำหรับครู
   - กำหนดวัตถุประสงค์ให้สอดคล้องกับบทเรียน
   - เลือกสถานที่ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์
  - หาข้อมูลเกี่ยวกับกับสถานที่ที่จะไปศึกษา  เพื่อทราบปัญหาต่างๆ
  - ให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสถานที่กับสถานที่ที่จะไปชมเพื่อแนวทางในการศึกษา
กาเตรียมสำหรับผู้เรียน
  - การตั้งวัตถุประสงค์ว่าต้องการทราบอะไร จากการไปทัศนศึกษา
  - ให้ผู้เรียนได้รับความรู้จากกิจกรรมอย่างเต็มที่
  - แบ่งหน้าที่รับผิดชอบ เช่น บันทึกภาพ ซักถาม กล่าวขอบคุณ
  - ตกลงการแต่งกาย มารยาท และการวางตัวขณะฟังบรรยาย

บทสรุป
         สื่อกิจกรรมเป็นกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนได้เข้าร่วมกิจกรรม   เพื่อให้มีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ ด้วยตัวเอง สื่อกิจกรรมมีคุณค่ามากมายในด้านการส่งเสริมให้ผู้เรียนกล้าแสดงออกและสามารถทำร่วมกับผู้อื่นได้   ผู้เรียนจะค้นพบความรู้จากการปฏิบัติ  นอกจากนี้สื่อกิจกรรมส่วนใหญ่จะให้ความเพลิดเพลินสนุกสนาน  สื่อกิจกรรมที่ดีควรให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมกำหนดขอบข่ายเนื้อหา   วัตถุประสงค์  เข้าร่วมกิจกรรมและประเมินผล   ควรเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ในด้านความรู้    เจตคติ  และทักษะอย่างบูรณาการ  ทั้งนี้ต้องตรงกับเนื้อหาและจุดมุ่งหมายของบทเรียน   ก่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์   อยู่ในความสนใจและมีความยากง่ายเหมาะสมกับผู้เรียน  สื่อกิจกรรมที่นำมาใช้ในการเรียนการสอนมีหลายประเภท เช่น  การสาธิต   การจัดนิทรรศการ   นาฏการ   การใช้ชุมชนเพื่อการศึกษา   สถานการณ์จำลอง และการศึกษานอกสถานที่ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น